พระราชหัตถเลขา

พระราชทานแก่นิสสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พุทธศักราช ๒๔๙๔

นิสสิตทั้งหลาย

ตามที่ขอให้ข้าพเจ้ามีจดหมายมาปราศรัย เพื่อนำลงในหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับพระปิยมหาราชานุสรณ์ ประจำปีนี้ ข้าพเจ้ายินดีอำนวยตามความประสงค์ ดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

ในยามที่สถานการณ์ของโลกกำลังปั่นป่วนเช่นเวลานี้ บ้านเมืองย่อมตั้งความหวังในบรรดาผู้ซึ่งกอรปด้วยกำลังกาย กำลังใจ และกำลังความคิดเข้มแข็ง ในอันจะร่วมมือร่วมใจช่วยนำประเทศชาติให้พ้นภัยไปสู่ความเจริญสถาพร เนื่องด้วยนิสสิตมหาวิทยาลัยทั้งหลายเป็นผู้ได้มีโอกาสศึกษาวิชาชั้นสูง ทั้งอยู่ในวัยซึ่งร่างกายกำลังเติบโตสมบูรณ์ จึงควรสำนึกให้ตระหนักว่าตนเองอยู่ในชั้นผู้นำของชาติ ผู้ซึ่งกำอนาคตไว้ในมือ แล้วฝึกและบำเพ็ญตนให้สมกับหน้าที่รับผิดชอบอันมีเกียรตินี้

กำลังกาย กำลังใจ กำลังความคิด เมื่อไม่เจริญขึ้นก็เสื่อมลง จะคงที่นั้นน้อยนัก เพราะฉะนั้นเพื่อจะไม่ถอยหลัง จึงต้องพยายามก้าวหน้าอยู่เสมอ.

ความท้อถอยมักเกิดจากพยายามแล้วไม่เห็นผลทันตา หรือได้ผลไม่เทียมเพื่อน แต่ลาภยศและชื่อเสียง ใครจะได้รับเพียงใด ย่อมแล้วแต่คุณวุฒิความสามารถ และยิ่งกว่านั้น คือ แล้วแต่โชควาสนา นายช่างผู้วิเศษเชี่ยวชาญ จะปั้น หลอม สลัก เกลารูปให้วิจิตร์พิสดารได้เพียงใด ย่อมแล้วแต่เครื่องมือและวัตถุธาตุที่มีใช้ จะเป็นดินเหนียว ไม้ ศิลา หรือ โลหะ แต่ก็คงไว้ฝีมือสร้างรูปได้งดงามที่สุด เท่าที่เครื่องมือและวัตถุธาตุซึ่งตนมีอยู่จะอำนวยให้. ดังนั้น ท่านทั้งหลายเกิดมาจะมีรูปร่างหน้าตาคุณวุฒิอย่างไรก็ตาม แต่ถ้าแม้เพียรพยายามฝึกกาย ฝึกใจ และฝึกสมองในทางที่ชอบ ให้เจริญงอกงามขึ้นเท่าที่จะทำได้ ก็นับว่าได้ทำประโยชน์ส่วนหนึ่งแก่ประเทศชาติแล้ว ได้ทำหน้าที่เป็นพลเมืองดี.

ยิ่งกว่าความเฉลียวฉลาด บ้านเมืองจะรุ่งเรืองวัฒนาถาวรเพียงใด ย่อมแล้วแต่นิสสัยจิตร์ใจของพลเมืองเป็นสำคัญ และทุกเมื่อพลเมืองย่อมต้องการผู้นำไม่เพียงคนใดคนหนึ่งแต่คนเดียว หรือ คณะเดียว แต่ทุกหมู่ ทุกคณะ ทุกชั้น ทุกอาชีพ ผู้นำซึ่งบำเพ็ญตนเป็นเยี่ยงอย่างอันดีงาม เพื่อความเจริญสุขสถาพรแห่งส่วนรวม

ในที่สุดนี้ขอให้นิสสิตทั้งหลายจงมีความสุขสมบูรณ์ด้วยกำลังกาย กำลังใจ และกำลังสติปัญญา ขอให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจงเจริญ.

ภูมิพลอดุลยเดช
๒๖ ก.ย. ๙๔